เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) คือ การประยุกต์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อนำมาจัดการสารสนเทศที่ต้องการ โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีด้านเครือข่ายโทรคมนาคมและการสื่อสาร และอาศัยความรู้กระบวนการดำเนินงานสารสนเทศตั้งแต่ขั้นตอนการแสวงหา การวิเคราะห์ การจัดเก็บ ตลอดจนถึงการเผยแพร่สารสนเทศและแลกเปลี่ยนสารสนเทศ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ความถูกต้อง ความแม่นยำ และความรวดเร็วต่อการนำมาใช้ประโยชน์
องค์ประกอบของเทคโนโลยีสารสนเทศ
เทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบด้วยองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญ 2 ส่วน คือ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม
1. เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (Computer Technology)
คอมพิวเตอร์ คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างหนึ่งที่มีความสามารถในการคำนวณอัตโนมัติตามชุดคำสั่ง สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับปัญหาเล็ก จนถึงปัญหาใหญ่ได้ โดยมีกระบวนการ
ทำงาน ตั้งแต่การรับข้อมูลเข้า (Input) เพื่อทำการประมวลผล (Process) และนำมาแสดงผลลัพธ์ (Output) ตลอดจนถึงการเก็บข้อมูล (Storage)
2. เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม
เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม เป็นองค์ประกอบที่ทำหน้าที่เผยแพร่แลกเปลี่ยนสารสนเทศไปยังผู้ที่ต้องการในแหล่งต่างๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วน และทันสถานการณ์ โดยสารสนเทศในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนซึ่งกัน
เทคโนโลยี เกิดจากการที่มนุษย์สร้างหรือพัฒนาขึ้น ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งชิ้นงานหรือวิธีการเพื่อใช้แก้ปัญหา สนองความต้องการ หรือเพิ่มความสามารถในการทำางานของมนุษย์
ระบบทางเทคโนโลยี เป็นกลุ่มของส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่สองส่วนขึ้นไป ประกอบเข้าด้วยกันและทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์โดยในการทำงานของระบบทางเทคโนโลยี จะประกอบไปด้วย ตัวป้อน (input) กระบวนการ (process) และผลผลิต (output) ที่สัมพันธ์กัน นอกจากนี้ระบบทางเทคโนโลยีอาจมีข้อมูลย้อนกลับ (feedback) เพื่อใช้ปรับปรุงการทำางานได้ตามวัตถุประสงค์
เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีสาเหตุหรือปัจจัยมาจากหลายด้าน เช่น ปัญหา ความต้องการความก้าวหน้าของศาสตร์ต่าง ๆ เศรษฐกิจ สังคม
ภัยคุกคามต่อเทคโนโลยีสารสนเทศ
เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology : IT) เป็นเครื่องมือที่มีบทบาทสำคัญต่อการเรียนรู้ และการใช้ชีวิตประจำวัน ในปัจจุบันมีการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศอยางแพร่หลายด้วยประโยชน์ที่หลากหลายในการเข้าถึงข้อมูล ผู้ใช้งานต้องตระหนักถึง ความปลอดภัยของเทคโนโลยีสารสนเทศ คือ นโยบาย ขั้นตอนการปฏิบัติ และมาตรการทางเทคนิคที่นำมาใช้ป้องกันการใช้งานจากบุคคลภายนอก การเปลี่ยนแปลง การขโมย หรือ การทำความเสียหายต่อเทคโนโลยีสารสนเทศ
ทางเทคโนโลยีจะมีกลุ่มคนที่มีบทบาทเกี่ยวกับการโจรกรรมข้อมูล คือ
แคร็กเกอร์ Cracker คือบุคคลที่บุกรุกหรือรบกวนระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ห่างไกลด้วยเจตนาร้าย cracker เมื่อบุกรุกเข้าสู่ระบบ จะทำลายข้อมูลที่สำคัญทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ หรืออย่างน้อยทำให้เกิดปัญหาในระบบคอมพิวเตอร์ของเป้าหมาย โดยกระทำของ Cracker มีเจตนามุ่งร้ายเป็นสำคัญ
แฮกเกอร์ Hacker ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ในการถอดหรัส หรือเจาะรหัสได้ ส่วนมากแล้ว hacker จะเป็นโปรแกรมเมอร์ สามารถเข้าไปถึงข้อมูลในคอมพิวเตอร์โดยเจาะผ่านระบบ รักษาความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์ได้
รูปแบบภัยคุกคามด้านข้อมูลในคอมพิวเตอร์
มัลแวร์ (Malware)
คือ โปรแกรมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อประสงค์ร้ายต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ มัลแวร์จะขโมยข้อมูลหรือพยายามทำให้เครื่องที่ติดตั้งซอฟต์แวร์เกิดความเสียหาย
ไวรัสคอมพิวเตอร์ (computer virus)
คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่บุกรุกเข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับความยินยอม จากผู้ใช้ส่วนมากมักจะมีประสงค์ร้ายและสร้างความเสียหายให้กับระบบของเครื่องคอมพิวเตอร์ และยังสามารถแพร่ระบาดเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อื่นๆได้ด้วย
หนอนคอมพิวเตอร์ (computer worm)
คือ โปรแกรมที่ถูกสร้างขึ้นแล้วแพร่กระจายผ่านระบบเน็ตเวิร์กหรืออินเทอร์เน็ตผ่าน ช่องโหว่ของระบบปฏิบัติการเพื่อสร้างความเสียหาย ลบไฟล์ สร้างไฟล์ หรือขโมยข้อมูล โดยส่วนใหญ่แล้วหนอนคอมพิวเตอร์จะแพร่กระจายผ่านการส่งอีเมล์ที่แนบไฟล์ซึ่งมีหนอนคอมพิวเตอร์อยู่ ไปยังชื่อผู้ติดต่อของเครื่องที่โดนติดตั้ง
ม้าโทรจัน (Trojan horse)
คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกบรรจุเข้าไปในคอมพิวเตอร์ เพื่อเก็บข้อมูล หรือ ทำลายข้อมูลของคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น เช่น ข้อมูลชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน เลขที่บัญชีธนาคาร หมายเลขบัตร เครดิต ข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ
สปายแวร์ (Spyware)
คือ โปรแกรมที่ฝังตัวอยู่ในคอมพิวเตอร์ทำให้ทราบข้อมูลของผู้ใช้งาน โดยที่เจ้าของเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นไม่ทราบว่ามีการดักดูข้อมูลอยู่
การป้องกันและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างปลอดภัย
ตั้งเป้า 6 ข้อ เพื่อใช้งานไอทีให้ปลอดภัย
1. ก่อนลุกจากคอม ฯ ต้องล็อกหน้าจอ
หากใช้คอมพิวเตอร์ในสำนักงาน หรือ ที่บ้าน ต้องคิดว่าความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญ ต้องคิดว่า เมื่อเราไม่อยู่ที่หน้าจออาจมีคนที่ไม่หวังดี เข้ามาสวมสิทธิ Account เข้าถึงไฟล์สำคัญต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งลบข้อมูลหรือไฟล์สำคัญต่าง ๆ ดังนั้นก่อนลุกจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ควรล็อกหน้าจอก่อน โดยกดปุ่มบน keyboard ที่ปุ่ม Windows key + L ก็จะล็อกหน้าจอไม่ให้ใครเข้าใช้งานทันที วิธีตั้งค่าการ Lock หน้าจอของ windows 10 สามารถอ่านต่อได้ที่นี่ครับ
2. มือถือต้องตั้งรหัสผ่าน
บางคนคิดว่ามือถือก็ใช้งานคนเดียว ในมือถือก็ไม่มีข้อมูลอะไร ทำไมต้องต้องตั้งรหัสผ่านด้วย นั้นอาจเป็นความจริงในอดีต แต่ปัจจุบันมือถือเป็นอุปกรณ์ที่มีการจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้อยู่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็น รูปถ่าย อีเมล แอปธนาคาร ข้อมูลบัญชีออนไลน์ ข้อมูลทำธุรกรรมการเงิน ฯลฯ ดังนั้น หากเผลอลืมวางทิ้งไว้ นอกจากต้องระวังมือถือหายแล้ว อาจเปิดโอกาสให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้าถึงข้อมูลในเครื่องได้ด้วย แต่หากตั้งรหัสผ่านก็จะช่วยป้องกันได้ระดับหนึ่ง
3. ไม่ใช้ WIFI สาธารณะเด็ดขาด
ขอให้คิดเสมอว่า WIFI สาธารณะไม่ปลอดภัย นอกจากเสี่ยงกับ Rouge WiFi หรือ WiFi Hotspot ปลอมแล้ว อาจเสี่ยงโดนดักข้อมูลด้วยเช่นกัน อย่าเห็นแก่การประหยัดเน็ต หรือความเร็วเพียงเล็กน้อย แล้วแลกด้วยข้อมูลส่วนตัว ทางที่ดีควรใช้ อินเทอร์เน็ตมือถือ 4G ของตัวเองดีที่สุด
4. Password ต้องเดายากและไม่ใช้ซ้ำ
ต้องตั้งใจว่า ต่อไปนี้จะไม่ตั้ง Password ที่เดาง่าย และไม่ใช้ Password ซ้ำกันเด็ดขาด (ดูการตั้งรหัสผ่านให้ปลอดภัยและจำได้) แม้จะมีบัญชีออนไลน์เยอะ จนตั้งรหัสผ่านหลาย ๆ ชุดไม่ไหว แต่การตั้งแค่ชุดเดียวแต่ใช้ทุกเว็บ เป็นความคิดที่ผิด นอกจากจะไม่ปลอดภัยแล้ว ยังเสี่ยงโดนแฮกทุก Account อีกด้วย เลวร้ายสุดอาจถูกแฮกเกอร์เข้าถึงข้อมูลการเงินได้ ทางที่ดีควรตั้งรหัสผ่านไม่ซ้ำกัน หรือ ถ้าจำไม่ไหวจริง ๆ ควรใช้ Password Manager เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ในการช่วยจัดการรหัสผ่านต่าง ๆ และสุดท้าย การเปิด 2 Factor Authentication ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยของ Account ยิ่งขึ้น ซึ่งควรเปิดในทุก ๆ Account ที่สามารถเปิด ได้ เช่น Facebook , Instagram , Gmail หรือแม้กระทั่ง Twitter
5. เริ่มต้น Backup
ของไม่หายไม่รู้สึก ข้อมูลก็เช่นกัน การสำรองข้อมูล ( Backup ) จะช่วยลดความความเสียหายในการสูญเสียข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น ก็ยังสามารถนำข้อมูลกลับมาได้ทันที ดังนั้นจึงควรหมั่น Backup อยู่เสมอ อ่านวิธีการ Backup เบื้องต้นได้ที่นี่
6. คิดก่อนคลิกเสมอ
จากนี้ไปก่อนคลิกลิงก์อะไร ต้องคิดก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นลิงก์ที่มาจากอีเมล หรือ ข้อความผ่านทาง Social Network ต่าง ๆ ที่ส่งมาแจ้งว่า Account คุณโดนระงับ ต้องทำการยืนยัน Account อีกครั้ง คลิกไปก็ให้กรอกข้อมูล Username และ Password หรือแม้กระทั่ง Banner เว็บไซต์ ที่ขึ้นลิงก์ให้คลิกดาวน์โหลด เช่น เข้าเว็บดาวน์โหลดโปรแกรม แล้วขึ้นข้อความเตือนว่า “เครื่องคุณติดไวรัสให้ดาวน์โหลดแอปนี้เพื่อกำจัดไวรัสออกทันที” ฯลฯ หากเผลอกดอาจได้มัลแวร์มาเป็นของแถม เสี่ยงต่อการทำให้คอมพิวเตอร์มีปัญหา หรือ ถูกแฮกเกอร์ควบคุมเครื่อง ขโมยข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น คอยสังเกตหากขึ้นลิงก์แปลก ๆ ขึ้นมา ให้กดปิด X หรือออกจากเว็บไซต์นั้นเสีย เพราะหมายความว่า เว็บไซต์ที่กำลังใช้งานอยู่ไม่ปลอดภัย
สำหรับ 6 ข้อนี้เป็นการเพิ่มความปลอดภัยบนโลกไอทีและหากแนะนำคนรอบข้างให้เริ่มปรับเปลี่ยนและระมัดระวังในการใช้งานด้วยก็จะยิ่งดีนอกจากจะใช้งานอย่างปลอดภัยแล้ว ยังมีความสุข ใช้งานสนุก ไม่เสี่ยงภัยคุกคามบนโลกออนไลน์
ที่มา : https://www.cyfence.com/article/new-year-resolution-6-security-step/
จรรยาบรรณในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ
จริยธรรม คือ หลักประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมกับการทำหน้าที่ของบุคคล เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนอย่างสมบูรณ์และสอดคล้องกับมาตรฐานที่ดีงามอันเป็นที่ยอมรับของสังคม
จริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ คือ หลักศีลธรรมจรรยาที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ หรือ ควบคุมการใช้ระบบคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ เมื่อพิจารณาถึงจริยธรรมเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ จะแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นคือ
ความเป็นส่วนตัว
ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและสารสนเทศ โดยทั่วไปหมายถึง สิทธิที่จะอยู่ตามลำพัง และเป็นสิทธิที่เจ้าของสามารถที่จะควบคุมข้อมูลของตนเองในการเปิดเผยให้กับผู้อื่น สิทธินี้ใช้ได้ครอบคลุมทั้งปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กร และหน่วยงานต่างๆ
ความถูกต้อง
ข้อมูลควรได้รับการตรวจสอบความถูกต้องก่อนที่จะบันทึกข้อมูลเก็บไว้รวมถึงการปรับปรุงข้อมูลให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ นอกจากนี้ ควรให้สิทธิแก่บุคคลในการเข้าไปตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลตนเองได้
ความเป็นเจ้าของ
เป็นกรรมสิทธิ์ในการถือครองทรัพย์สิน ซึ่งอาจเป็นทรัพย์สินทั่วไปที่จับต้องได้ เช่น คอมพิวเตอร์ รถยนต์ หรืออาจเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ที่จับต้องไม่ได้ เช่น บทเพลง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่สามารถถ่ายทอดและบันทึกลงในสื่อต่างๆ ได้ เช่น สิ่งพิมพ์ เทป ซีดีรอม เป็นต้น
การเข้าถึงข้อมูล
การเข้าใช้งานโปรแกรม หรือระบบคอมพิวเตอร์ มักจะมีการกำหนดสิทธิตามระดับของผู้ใช้งาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการเข้าไปดำเนินการต่างๆ กับข้อมูลของผู้ใช้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และเป็นการรักษาความลับของข้อมูล
จรรยาบรรณ คือ ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานกำหนดขึ้น
จรรยาบรรณในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศมีดังนี้
1. ไม่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อก่ออาชญากรรมหรือละเมิดสิทธิผู้อื่น
2. ไม่ใช้คอมพิวเตอร์รบกวนการผู้อื่น
3. ไม่ทำการสอดแนม แก้ไข หรือเปิดดูไฟล์ของผู้อื่นก่อนได้รับอนุญาต
4. ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ในการโจรกรรมข้อมูลข่าวสาร
5. ไม่ใช้คอมพิวเตอร์สร้างหลักฐานเท็จ
6. ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ในการคัดลอกโปรแกรมที่มีลิขสิทธิ์
7. ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ละเมิดใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์โดยที่ตนเองไม่มีสิทธิ์
8. ไม่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อนำเอาผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน
9. คำนึงถึงผลของการกระทำที่จะเกิดขึ้นกับสังคม
10. ใช้คอมพิวเตอร์โดยเคารพกฎระเบียบ กติกา และมารยาท
ข้อกำหนด ข้อตกลงในการใช้แหล่งข้อมูล
สารสนเทศถูกสร้างสรรค์ขึ้นมากมายในปัจจุบัน การเข้าถึงสารสนเทศทำได้ง่ายและสะดวกจึงมีการคัดลอกหรือนำสารสนเทศที่ไม่ใช่ลิขสิทธิ์ของตนไปใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons หรือ CC) เป็นสัญลักษณ์ในการเผยแพร่ผลงานทั้งภาพ เสียง ข้อมูล งานศิลปะ หรือสารสนเทศต่าง ๆ ที่ง่ายต่อการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ ให้สามารถนำ ข้อมูลหรือสารสนเทศเหล่านั้นไปใช้งานได้โดยไม่จำ เป็นต้องขออนุญาตเจ้าของผลงานอีก
Creative common มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งต่อไปนี้
ลิขสิทธิ์ (Copyright) คือ สิทธิ์ของผู้สร้าง โดยสิทธิ์นี้จะรวมไปถึงชิ้นงาน หรือวิธีการ ซึ่งหลังจากที่มีการเผยแพร่แล้ว ลิขสิทธิ์จะตกเป็นของผู้ส้รางโดยอัติโนมัติ
สิทธิบัตร (Patent) คุ้มครอง กระบวนการในการสร้างสรรค์ผลงาน สิทธิบัตรจะต่างจากลิขสิทธิ์ที่ต้องยื่นขอจดสิทธิบัตรไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีขั้นตอนด้านเอกสารและค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น
ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ซึ่งครอบคลุม ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และความลับทางการค้า
ในฐานะที่เราเป็นบุคคลที่ใช้สื่อหรือแหล่งข้อมูลต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต เราจึงควรมีมารยาทในการใช้สื่อ หรือ แหล่งข้อมูล ดังนี้
- ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล
- ใช้ภาษาที่สุภาพและเป็นทางการในการเผยแพร่ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต
- เผยแพร่ข้อมูลและข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในทางสร้างสรรค์
- ควรระบุแหล่งที่มา
- ไม่ควรเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร หรือ โปรแกรมของผู้อื่นก่อนได้รับอนุญาต
- ไม่ควรเผยแพร่โปรแกรมที่นำความเสียหาย