หน่วยการเรียนรู้ที่ 3
การเตรียมข้อมูลสำหรับทำเว็บไซต์
หน่วยการเรียนรู้ที่ 3
การเตรียมข้อมูลสำหรับทำเว็บไซต์
ประเภทของข้อมูลที่นิยมใช้ในการทำเว็บไซต์ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. ข้อมูลตัวอักษร (Text)
2. ข้อมูลรูปภาพ (Image)
3. ไฟล์เอกสาร (Digital File)
การเตรียมข้อมูลสำหรับแสดงผลบนหน้าเว็บไซต์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างเว็บไซต์ เพราะเนื้อหาเป็นส่วนที่ทำให้ผู้อ่านทราบถึงจุดประสงค์ว่าเราทำเว็บไซต์เพื่ออะไร ต้องการนำเสนอสินค้า บริการ หรือข้อมูลด้านใดเป็นสำคัญ เป็นการสร้างความเข้าใจต่อผู้ชม และนำไปสู่การสั่งซื้อสินค้าหรือเลือกใช้บริการ ซึ่งประเภทของข้อมูลที่นิยมใช้ในระบบเว็บไซต์สำเร็จรูป แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. การเตรียมข้อมูลตัวอักษร เช่น เนื้อหาข่าว รายละเอียดสินค้าแต่ละชิ้น เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการนำมาใส่รายละเอียดบนหน้าเว็บไซต์ อาจพิมพ์ข้อมูลตัวอักษรเก็บไว้ในโปรแกรม Notepad หรือโปรแกรม Microsoft Word
2. การเตรียมรูปภาพประกอบ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายจากกล้องถ่ายรูป กล้องโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน การสแกนจากรูปถ่ายที่เป็นกระดาษ หรือการสร้างรูปภาพจากโปรแกรมตกแต่งภาพต่าง ๆ โดยเตรียมไฟล์ที่เป็นไฟล์ภาพนามสกุล (Type) : .jpeg/ .gif/ .png ตั้งชื่อภาพเป็นภาษาอังกฤษและตัวเลข หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาไทยและสัญลักษณ์อักรขระพิเศษ และควรย่อภาพให้มีขนาดไม่เกิน (File Size) 500 KB ยิ่งไฟล์ภาพมีขนาดเล็กเท่าไร ก็จะช่วยให้หน้าเว็บไซต์แสดงผลได้เร็วขึ้นเท่านั้น
3. การเตรียมไฟล์เอกสารประกอบ ที่ต้องการให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์สามารถคลิกดาวน์โหลดไปอ่านหรือใช้งานต่อได้ เช่น แบบฟอร์มใบสมัคร, โบรชัวร์ โดยเตรียมไฟล์ภาพที่เป็นไฟล์นามสกุล .doc, .xls, .ppt, .pdf, .txt, .zip, และ .rar ควรตั้งชื่อไฟล์เป็นภาษาอังกฤษและตัวเลข หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาไทยและสัญลักษณ์อักรขระพิเศษ และควรใช้ไฟล์ที่มีขนาดไม่เกิน 10 MB
เมื่อเตรียมข้อมูลที่ต้องการจะใช้ในเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การจัดแบ่งข้อมูลออกเป็นหมวดหมู่ เช่น กลุ่มบทความ กลุ่มสินค้า ข้อมูลอื่น ๆ
1. กลุ่มบทความ คือ กลุ่มของข้อมูล ข่าวสาร เรื่องราวความรู้ต่าง ๆ ที่ต้องการเผยแพร่บนหน้าเว็บไซต์ เช่น
- กลุ่มข่าวประชาสัมพันธ์ เพื่อนำเสนอบทความข่าวสาร กิจกรรมต่าง ๆ
- กลุ่มบทความสาระความรู้ นำเสนอเกร็ดความรู้ต่าง ๆ ที่มีประโยชน์กับผู้อ่านซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อมูลในเว็บไซต์
- กลุ่มบทความข้อมูลสินค้า และบริการ ที่ใช้ในการช่วยนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับสินค้าในเว็บไซต์ ลูกค้าสามารถอ่านเป็นความรู้เพิ่มเติม ช่วยประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าและบริการได้ดียิ่งขึ้น
2. กลุ่มสินค้า และบริการ ในการแยกกลุ่มสินค้า อาจใช้หลักการแยกกลุ่ม เช่น แยกตามชนิดของสินค้า แยกตามลักษณะการใช้งาน แยกตามการจัดโปรโมชั่น โดยคำนึงถึงความสะดวกของลูกค้าในการเข้าชมสินค้าบนหน้าเว็บไซต์เป็นหลัก
3. ข้อมูลอื่น ๆ เช่น รายละเอียดบทนำที่ใช้แจ้งข้อความต้อนรับผู้อ่านสู่เว็บไซต์ ประวัติองค์กร ข้อมูลการติดต่อ หากเป็นเว็บไซต์ขายสินค้า อาจมีข้อมูล วิธีการสั่งซื้อสินค้า วิธีการชำระเงิน เพิ่มเติม
การนำข้อมูลมาใช้บนเว็บไซต์ ควรเลือกแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ซึ่งมีลักษณะเป็นแหล่งที่มีการรวบรวมข้อมูลอย่างมีหลักเกณฑ์ มีเหตุผล และมีการอ้างอิง จึงให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง สอดคล้องตามความต้องการ และมีความทันสมัย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องใช้ประเด็นพิจารณา PROMPT ในการประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล ซึ่งประกอบด้วย
1. การนำเสนอ (Presentation)
2. ความสัมพันธ์ (Relevance)
3. วัตถุประสงค์ (Objectivity)
4. วิธีการ (Method)
5. แหล่งที่มา (Provenance)
6. เวลา (Timeliness)
ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลสามารถทำได้ดังนี้
1. เว็บไซต์หรือแหล่งที่มาของข้อมูลต้องบอกวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือเผยแพร่ข้อมูลไว้ในเว็บไซต์อย่างชัดเจน
2. การนำเสนอเนื้อหาต้องตรงตาม วัตถุประสงค์ในการสร้างหรือ เผยแพร่ข้อมูลของเว็บไซต์
3. เนื้อหาเว็บไซต์ไม่ขัดต่อกฎหมายศีลธรรม และจริยธรรม
4. มีการระบุชื่อผู้เขียนบทความหรือผู้ให้ข้อมูลบนเว็บไซต์
5. มีการอ้างอิงแหล่งที่มาหรือแหล่ง ต้นตอของข้อมูล ที่มีเนื้อหาปรากฏบนเว็บไซต์
6. สามารถเชื่อมโยง (link) ไปเว็บไซต์อื่นที่อ้างถึงเพื่อตรวจสอบแหล่งต้นตอของข้อมูลได้
7. มีการระบุวันเวลาในการเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์
8. มีการให้ที่อยู่หรืออีเมล ที่ผู้อ่าน สามารถติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ได้
9. มีช่องทางให้ผู้อ่านแสดงความคิดเห็น
10. มีข้อความเตือนผู้อ่านให้ใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจใช้ข้อมูลที่ปรากฏบนเว็บไซต์
Sitemap
Sitemap คือ แผนที่หรือ แผนผังเว็บไซต์ ที่รวบรวมรายการทุกหน้าของเว็บไซต์ เปรียบเป็นเหมือนหน้าสารบัญของหนังสือเล่มหนึ่งที่ช่วยให้ Search Engine Bot หรือผู้เข้าชมเว็บไซต์รู้ได้ว่าโครงสร้างเว็บไซต์ประกอบด้วยหน้าเว็บเพจอะไรบ้าง แล้วสามารถเข้าถึงหน้าต่าง ๆ ผ่านลิงก์ไหน
Sitemap ต้องทำเมื่อไหร่ ?
ถ้าถามว่าต้องทำ Sitemap ตอนไหน ต้องบอกว่าควรทำตั้งแต่ก่อนเริ่มทำเว็บไซต์ เพราะการทำ Sitemap ถือว่าเป็นการวางแผนโครงการเว็บไซต์ของเราค่ะ ทำให้เราเห็นภาพรวมทั้งหมดของเว็บไซต์ ว่าเว็บไซต์ของเราจะมีกี่หน้า กี่เมนู แต่ละหน้า แต่ละเมนูเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง