หน่วยการเรียนรู้ที่ 3
การเตรียมข้อมูลเพื่อใช้ในงานอินโฟกราฟิก (Infographic)
หน่วยการเรียนรู้ที่ 3
การเตรียมข้อมูลเพื่อใช้ในงานอินโฟกราฟิก (Infographic)
🎨กระบวนการที่ดีในการออกแบบอินโฟกราฟิก (Infographic) 🖌️
Hyperakt’s Josh Smith ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ได้ค้นพบกระบวนการที่ดีในการออกแบบอินโฟกราฟิก (Infographic) 10 ขั้นตอน ประกอบด้วย
1. การรวบรวมข้อมูล (Gathering data)
คัดเลือกข้อมูลดิบที่รวบรวมมา แต่ที่ยังไม่เป็นระเบียบ โดยอาจใช้โปรแกรม Microsoft Excel เขียนแหล่งอ้างอิงที่มาของข้อมูลที่เป็นต้นฉบับ บันทึกภาพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ไม่ควรแยกภาพหรือแผนภาพกับข้อมูลออกจากกัน
2. การอ่านข้อมูลทั้งหมด (Reading everything)
การอ่านข้อมูลเฉพาะจุดเน้น หรืออ่านอย่างผิวเผินให้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เพราะคิดว่าเสียเวลา จะทำให้ได้ข้อมูลไม่สมบูรณ์ ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้มองเห็นภาพรวมของประเด็นสำคัญ
3. การค้นหาวิธีการเล่าเรื่อง (Finding the narrative)
อินโฟกราฟิกเริ่มที่จุดมุ่งหมายเดียว ขยายความข้อมูลที่ซับซ้อน อธิบายกระบวนการเน้นที่แนวโน้มหรือสนับสนุนข้อโต้แย้ง การหาวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจอาจจะยุ่งยากในระยะแรก ถ้าเราคุ้นเคยกับข้อมูลที่มีอยู่จะทำให้สามารถเล่าเรื่องราวได้ การใส่ใจกับเนื้อหาที่สำคัญที่จะช่วยให้การนำเสนอข้อมูลมีคุณค่า
4. การระบุปัญหาและความต้องการ (Identifying problems)
เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว นำมาตรวจสอบความถูกต้อง อาจมีข้อมูลที่ไม่สนับสนุนหัวข้อหรือประเด็นที่ต้องการนำเสนอ ควรมีการอภิปรายหาข้อสรุปที่แท้จริงเพื่อระบุปัญหาและความต้องการ ปรับปรุงข้อมูลและเรื่องราวให้มีเอกลักษณ์ตรงกับหัวข้อศึกษา
5. การจัดลำดับโครงสร้างข้อมูล (Creating a hierarchy)
การจัดลำดับชั้นของข้อมูลเป็นที่นิยมในการสรุปข้อมูล เป็นการนำผู้ชมให้มองเห็นภาพรวมตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นวิธีการจัดการกับข้อมูลในการสร้างอินโฟกราฟิกตามโครงสร้างลำดับชั้นของข้อมูล
6. การออกแบบโครงสร้างข้อมูล (Building a wireframe)
เมื่อพิจารณาตรวจสอบคัดเลือกข้อมูลอย่างละเอียดแล้ว จัดแบ่งข้อมูลเป็นลำดับชั้น และออกแบบโครงสร้างของของข้อมูล ผู้ออกแบบควรทำความเข้าใจกับภาพหรือกราฟิกที่เป็นตัวแทนของข้อมูลสำคัญที่จัดไว้เป็นลำดับชั้น
7. การเลือกรูปแบบอินโฟกราฟิก (Choosing a format)
เมื่อสิ้นสุดการกำหนดภาพ หรือกราฟิกที่เป็นตัวแทนของข้อมูลแล้ว ในลำดับถัดไปจะต้องเลือกรูปแบบอินโฟกราฟิกที่เหมาะสมกับเนื้อหา อินโฟกราฟิก ที่นิยมใช้งานมีทั้งหมด 9 รูปแบบ
8. การค้นหาวิธีการเล่าเรื่อง (Finding the narrative)
ไม่ควรติดยึดกับวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ควรผสมผสานวิธีการใช้กราฟ แผนภาพ และแผนผัง ตกแต่งองค์ประกอบด้วยการวาดลายเส้นหรือนำ ภาพที่เป็นตัวแทนของข้อมูลมาจัดวางซ้อนกัน อาจเสริมด้วยข้อมูล สื่อ ตราสัญลักษณ์ และเนื้อหาในการออกแบบให้ตรงกับหัวข้อ
9. การตรวจสอบข้อมูลและทดลองใช้ (Refinement and testing)
ตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด ทั้งข้อมูลและภาพที่ใช้ประกอบ เพื่อให้แน่ใจว่าผลงานที่เสร็จแล้วมีคุณภาพตรงกับหัวข้อและเป้าหมาย
10. การแบ่งปันความรู้ในอินเทอร์เน็ต (Releasing it into the world)
เผยแพร่ผลงานบนอินเทอร์เน็ต หรือ ช่องทางอื่น ๆ ที่เหมาะสม ติดตาม และ ตรวจสอบข้อคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อนำมาพัฒนางาน การวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจะช่วยขยายข้อโต้แย้งและค้นพบวิธีการนำเสนอข้อมูลวิธีใหม่ได้
การสร้างอินโฟกราฟิกส์ให้มีประสิทธิภาพ นอกจากกระบวนการที่ดีในการออกแบบแล้ว ควรคำนึงถึง สิ่งที่ไม่ควรทำในการออกแบบอินโฟกราฟิกด้วย นั่นก็คือ
1. อย่าใช้ข้อมูลมากเกินไป (Don’t use too much text)
2. อย่าทำข้อมูลที่นำเสนอให้ยุ่งยากซับซ้อน (Don’t make confusing data presentation)
3. อย่าใช้สีมากเกินไป (Don’t overuse color)
4. อย่าใส่ตัวเลขมากเกินไป (Don’t place too much numbers)
5. อย่าละเลยข้อมูลที่ไม่สามารถระบุแยกแยะได้ (Don’t leave figures unidentified)
6. อย่าสร้างอินโฟกราฟิกให้น่าเบื่อ (Don’t make it boring)
7. อย่าพิมพ์ผิด (Don’t misuse typography)
8. อย่านำ เสนอข้อมูลที่ผิด (Don’t present wrong information)
9. อย่าเน้นที่การออกแบบ (Don’t focus on design)
10. อย่าใช้แบบเป็นวงกลม (Don’t use a circus layout)
เนื้อหาที่เหมาะสมกับอินโฟกราฟิก (Infographic)
เนื้อหาที่เหมาะสมกับอินโฟกราฟิก (Infographic) สามารถแบ่งได้ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ได้ดังนี้
1. หัวข้อที่อยู่ในความสนใจในช่วงนั้น ๆ เนื้อหาประเภทนี้มักเป็นเรื่องราวที่เป็นประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งผู้คนให้ความสนใจกันมาก อาจเป็นข่าว หรือสถานการณ์ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในขณะนั้น เช่น การแข่งขันโอลิมปิก การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี
2. How To หรือ วิธีการใช้งานต่าง ๆ คือเนื้อหาที่ตอบคำถามที่ว่า “ทำอย่างไร?” มีวิธีการใช้งานหรือขั้นตอนการใช้งานอย่างไร
3. รายงานผล เนื้อหาประเภทนี้มักจะเป็นการรายงานผลเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ว่าจะเป็นการอธิบายผลสำรวจ สถิติ การจัดอันดับข้อมูล หรือการถ่ายทอดงานวิจัย เช่น รายงานผลการใช้สินค้าหรือบริการ อันดับหนังทำรายได้สูงสุดแห่งปี
4. การเปรียบเทียบ จะเป็นการเปรียบเทียบของสองสิ่งขึ้นไป เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่าง เช่น การเปรียบเทียบแนวคิดระหว่างพรรคการเมือง การเปรียบเทียบบริการของ Facebook กับ Google+ การเปรียบเทียบกาแฟกับชา
5. การเปลี่ยนแปลงของเวลา เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงตามลำดับเวลามักเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ความเป็นมา หรือวิวัฒนาการเพื่อให้เห็นภาพ ลำดับเหตุการณ์ได้อย่างถูกต้อง และเข้าใจง่าย
6. การให้ความรู้เชิงวิชาการ เป็นอินโฟกราฟิกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเฉพาะทางหรือวงการใดวงการหนึ่ง หรือเนื้อหาประเภทบทความงานเขียนเฉพาะทางที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเขียนเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของข้อมูล เช่น บทวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ระบบพลังงานนิวเคลียร์
7. สรุปภาพรวม เป็นเนื้อหาความรู้ที่สรุปเกี่ยวกับหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งซึ่งเป็นเนื้อหาที่รวบรวมเอาแต่ประเด็นที่สำคัญมาย่อรวมความไว้ เช่น รวมประเทศที่น่าเที่ยว สรุปการเลือกตั้ง
8. การประชาสัมพันธ์ เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการโฆษณา ประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการ ต่าง ๆ ที่เป็นการให้ข้อมูลสินค้าหรือบริการ ที่อธิบายรายละเอียดข้อมูล เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ อธิบายสรรพคุณ อธิบายส่วนประกอบ ข้อดี หรือจุดแตกต่างของสินค้า หรือบริการนั้น ๆ เช่น ทำความรู้จักโทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อซัมซุง กาแล็คซี่ โน๊ต 8 บริการอัตโนมัติของธนาคาร
การเตรียมเนื้อหา
การเตรียมข้อมูลที่ใช้ในอินโฟกราฟิก (Infographic) ซึ่ง มี 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การรวบรวมข้อมูล จะต้องรวบรวมข้อมูลแบบรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย สถิติ งานวิจัย เอกสารตำรา บทความ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ และข้อมูลสาธารณะจากเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อให้เห็นถึงมุมมองที่หลากหลาย และมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ
ขั้นตอนที่ 2 การอ่าน และตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด เมื่อรวบรวมข้อมูลมาแล้วควรทำการอ่านข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพราะจะช่วยให้มองเห็นภาพรวมของประเด็นสำคัญและต้องทำการตรวจสอบข้อมูลว่าข้อมูลที่ได้มา ถูกต้องตรงประเด็น ไม่ล้าสมัย ตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลว่าเป็นแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ รวมถึงการตรวจพิสูจน์อักษรให้ถูกต้องเสมอ
ขั้นตอนที่ 3 การปรับปรุงข้อมูลและคัดสิ่งที่ไม่ต้องการออก ต้องมีมุมมองและเห็นคุณค่าในรายละเอียดของข้อมูลที่ชัดเจนหากพิจารณาแล้วว่าข้อมูลส่วนไหนไม่จำเป็นให้ตัดออก ได้แก่
1. การตัดคำฟุ่มเฟือยหรือคำที่มีความหมายซ้ำซ้อนทิ้ง
2. การตัดการยกตัวอย่างที่ไม่จำเป็น
ขั้นตอนที่ 4 การจัดลำดับและออกแบบโครงสร้างของข้อมูล เป็นการจัดระเบียบและเรียบเรียงข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบของโครงสร้างการนำเสนอข้อมูลเป็นลำดับชั้น โดยนำข้อมูลที่สำคัญและภาพที่สื่อความหมายมานำเสนอตามลำดับขั้นตอนที่ออกแบบไว้
หลักการออกแบบอินโฟกราฟิก (Infographic) ด้วยหลักการ 5W 1H
ทำอินโฟกราฟิก (Infographic) ไม่ให้ ต้องตอบคำถาม “5W 1H” นี้ให้ได้
W 1 : WHO ใครที่อยากจะพูดด้วย
หลายครั้งที่นักการออกแบบลืมไปว่าเป้าหมายแท้จริงของอินโฟกราฟิกที่อยากจะส่งไปถึงคือใครกันแน่ ไม่ใช่ว่าทุกคนอยากจะฟังเรื่องเดียวกัน แต่ละคนมีความรู้สึกต่อสิ่งที่ได้อ่านต่างกัน ถ้าไม่ใช่เรื่องของเขา หรือไม่จำเป็นต่อชีวิตเขาโดยตรง เขาก็ไม่สนใจ ดังนั้น คอนเทนต์ที่ทำไปจะกลายเป็นเสียงตะโกนที่ไม่มีใครฟัง สิ่งแรกที่ควรจะรู้ก่อนคือ “WHO” กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เขาอ่านคอนเทนต์เรา คือ “ใคร”
แล้วรู้ได้อย่างไรว่านี่แหละกลุ่มเป้าหมายของเรา?
ค้นหากลุ่มเป้าหมายได้ ด้วยการทำ Segmentation คือการใช้เกณฑ์ หรือ เงื่อนไข อะไรสักอย่างมากรองกลุ่มเป้าหมายใหญ่ ให้แคบและเจาะจงมากขึ้น โดยอาจแบ่งตามลักษณะภูมิประชากรศาสตร์ (Demographic) คือ ถิ่นที่อยู่อาศัย เช่น ประเทศ ภาค จังหวัด ฯลฯ หรือแบ่งตามพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral) เช่น กลุ่มลูกค้าใหม่, กลุ่มลูกค้าที่ใช้สินค้าเป็นประจำอยู่แล้ว, กลุ่มลูกค้าที่เพิ่งมีการซื้อสินค้าไม่นานมานี้ เป็นต้น ซึ่งสามารถนำเกณฑ์หลาย ๆ อย่างมาใช้ร่วมกันได้ เพื่อให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่เล็กลง แต่คุณสมบัติชัดเจนมากขึ้น
W 2 : WHY ทำไมต้องทำ
จุดประสงค์หลักของการทำอินโฟกราฟิกนี้ ทำไมต้องทำและทำไปเพื่ออะไร เช่น เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์, เพิ่มจำนวนการขาย, เพิ่มจำนวนการคลิกอ่าน หรือเพื่อให้กลับมาใช้บริการใหม่ เป็นต้น เพราะเมื่อเรารู้จุดประสงค์ เราก็จะสามารถหาวิธีวัดผลได้
W 3 : WHAT นำเสนออะไร
เมื่อเรารู้ว่าจะสื่อสารกับ “ใคร” และ “ทำไม” ไปแล้ว ต่อมาต้องมาดูว่า เราจะสื่อสารอะไร ด้วย Key Message และโทนเสียงการเล่าเรื่องแบบไหน ที่สำคัญคือกลุ่มเป้าหมายจะได้อะไรจากคอนเทนต์ที่เราต้องการส่งไปถึง
หากกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าใหม่ จุดประสงค์เพื่อนำเสนอสินค้าให้รู้จักและเป็นที่จดจำ เพราะฉะนั้นสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายจะได้จากคอนเทนต์ควรจะเป็นข้อมูล สรรพคุณ วิธีใช้ รายละเอียดสินค้า ซึ่งอาจไม่ใช่โปรโมชันลดราคาหรือสิทธิพิเศษ เป็นการเสิร์ฟข้อมูลเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อสินค้า น้ำเสียงและโทนที่ใช้ในการสื่อสารต้องชัดเจน แปลกใหม่ ดูประหลาดใจ เป็นต้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าหรือตัวตนที่แบรนด์อยากบอกออกไป ซึ่งก็ต้องสอดรับกับ 2W ข้างบน
H 1 : HOW นำเสนออย่างไร
บทความ ภาพ อินโฟกราฟฟิก เพลง วิดีโอ จากเนื้อหาที่จะนำเสนอ จะใช้รูปแบบไหน ความยาวของคอนเทนต์ประมาณไหนดี ซึ่งคอนเทนต์หนึ่งอาจไม่จำเป็นต้องทำทุกรูปแบบ เลือกให้เหมาะกับเนื้อหา ให้กลุ่มเป้าหมายที่ดูแล้วเข้าใจได้ง่าย
4 W : WHERE นำเสนอช่องทางไหน
ช่องทางวางตำแหน่งของคอนเทนต์ เช่น บล็อก เว็บไซต์ eBook Youtube Podcast Facebook Twitter Instagram Line Linkedin หรืออื่น ๆ เลือกให้เหมาะกับรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ หรือหากเรามีการอิงจากวัยของกลุ่มเป้าหมาย ก็อาจมีการศึกษาพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของแต่ละวัย เพื่อนำมาใช้เป็นช่องทางนำเสนอ (ดูตัวอย่าง การศึกษาพฤติการใช้งานโซเชียลมีเดียของคนไทยในบทความ สื่อสารกับคนวัยไหน ใช้มีเดียใดถึงเหมาะ?)
5 W : WHEN เมื่อไหร่ที่ควรปล่อยอินโฟกราฟิก
อินโฟกราฟิกดี กลุ่มเป้าหมายใช่ ต่อมาคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการปล่อยคอนเทนต์ ซึ่งเราสามารถสืบค้นดูสรุปรายงานการใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้ทางเว็บไซต์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ EDTA และนำมาปรับใช้ได้
นอกจากช่วงเวลาการใช้งานโซเชียลแล้ว ต้องดูบริบทการใช้งานด้วย เช่น ช่วงเช้า ๆ ระหว่างมาทำงาน คนมีการใช้โซเซียลมีเดียก็จริง แต่อาจจะยังไม่สะดวกที่จะตัดสินใจซื้อหรือใช้บริการ เพราะฉะนั้นคอนเทนต์ที่จะต้องให้กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจซื้อทันทีอาจยังไม่ได้ผล แบรนด์จะต้องตัดสินใจต่อว่า ควรจะมีการทำ Remarketing ไปหากลุ่มนี้อีกหรือไม่
สรุปแล้ว การทำไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเข้าใจว่าต้องการผลลัพธ์อะไรจากที่ทำไป เราจะวางจุดที่เราจะไปได้ถูกและรู้จักใช้เครื่องได้เหมาะสม โดยให้นึกถึง “5W 1H” ที่กล่าวไป คือ
“WHO WHY WHAT WHERE WHEN HOW
ใคร ทำไม อะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร”
อินโฟกราฟิกที่ดี ต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ถูกกลุ่ม มีประโยชน์ จริงใจ แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญของเราจริง ในขณะเดียวกันก็ต้องมีสไตล์การเล่าเรื่องที่น่าติดตาม อ่านแล้วเพลิน ทำให้เขารู้สึกว่าคุ้มค่ากับการที่จะต้องเสียเวลาอ่านบทความเรา และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำได้ ที่สำคัญคือ ความสม่ำเสมอของการทำอินโฟกราฟิกจะช่วยให้การสื่อสารระหว่างเรากับคนอ่านไม่ขาดช่วง ไม่เกิดช่องว่าง เมื่อไหร่ที่แบรนด์เราได้ปรากฏอยู่ในสายตาเขาเรื่อย ๆ ก็จะนำมาสู่ฐานแฟนคลับที่น่ารัก แล้วการทำอินโฟกราฟิกองคุณจะไม่ Fail อีกต่อไป
ขอบคุณที่มา : CREATIVE TALK